ประกันชีวิต คืออะไร?
เชื่อว่าหลายคน พอได้ยินคำว่า ประกันชีวิต ปุ๊บ จะเกิดอาการเหนื่อยหน่าย รำคาญใจ กินข้าวไม่อร่อย อาหารไม่ย่อยโดยไร้สาเหตุขึ้นมาทันทีเลยใช่ไหมล่ะครับ? สาเหตุหลักๆคงมาจากการที่เรามีประสบการณ์ไม่ดีกับตัวแทนขาย
เพราะตัวแทนส่วนมากที่เราเจอ(ไม่ใช่ทุกคน) จะชอบมาในรูปแบบของการ “ขอให้ช่วย” เพราะต้องการยอด หรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ของลูกค้าจริงๆ การขายผิดวิธีแบบนี้ ประกอบกับตัวโปรดักประกันเองที่มีความซับซ้อน มีประกันให้เลือกหลายแบบ และแต่ละแบบก็จะมีเงื่อนไขรายละเอียดยิบย่อยที่ต่างกัน ทำให้คนที่ไม่อินอยู่แล้วพอเจอประกันเข้าไปจึงถอยหนีกันหมด
แต่ในความเป็นจริงแล้วประกันเป็นสินค้าการเงินที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งในแง่ของการบริหารความเสี่ยง และการออมเงิน ซึ่งรับประกันได้เลยว่าทุกคนต้องมีประกันไม่ว่าจะอยู่ในช่วงชีวิตใดก็ตาม ดังนั้นบทความนี้จะทำให้เพื่อนๆเข้าใจประกันมากยิ่งขึ้น และพิเศษสำหรับเพื่อนๆพนักงานก็จะสามารถเลือกซื้อประกันได้เหมาะกับช่วงวัยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย เอาหล่ะ..เราลองเปิดใจแล้วมาทำความรู้จักกับประกันให้มากขึ้นกันครับ
เพื่อให้เพื่อนๆ เข้าใจมากขึ้น ผมจะขอแบ่ง “ประกันชีวิต” ออกเป็น 3 หมวดหมู่คือ ประกันพื้นฐาน สัญญาเพิ่มเติม และประกันสำหรับพนักงานนะครับ
คำศัพท์ ประกันชีวิต ที่ต้องรู้
- ผู้รับประกันภัย : บริษัทประกัน
- ผู้เอาประกันภัย : ลูกค้าที่ทำประกันกับบริษัท มีหน้าที่จ่ายชำระค่าเบี้ย
- ผู้รับผลประโยชน์ : ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัย จะได้รับค่าสินไหมกรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต
5 ประกันชีวิตพื้นฐานที่ต้องรู้
ประกันชีวิตพื้นฐาน ในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น 5 แบบหลักได้แก่
1. แบบตลอดชีพ
เป็นการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีวิต หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเมื่อใดในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ หรือหากมีชีวิตอยู่จนครบอายุสัญญา 99 ปีก็จะมีเงินคืนครบกำหนดเช่นเดียวกัน
2. แบบสะสมทรัพย์
เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อมีชีวิตอยู่โดยจะมีทั้งเงินคืนระหว่างสัญญาและเงินคืนครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาประกันภัย
3. แบบชั่วระยะเวลา
เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาประกันภัย หลายคนมักจะเรียกประกันชีวิตแบบนี้ว่า “แบบเบี้ยทิ้ง”
4. แบบเงินได้ประจำ (บำนาญ)
เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามเงื่อนไข เช่น ทุกปีนับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไป แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ สำหรับระยะเวลาการจ่ายเงินได้ประจำนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกันชีวิตที่จะเลือกซื้อ
5. แบบควบการลงทุน (ยูนิตลิงค์)
เป็นการประกันชีวิตที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิตและนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งไม่มีการรับประกันมูลค่ากรมธรรม์ เนื่องจากมูลค่ากรมธรรม์ขึ้นอยู่กับมูลค่าหน่วยลงทุน โดยอาจสูงขึ้นหรือต่ำลงตามผลประกอบการของกองทุนรวม จุดเด่นคือมีความยืดหยุ่นสูง สามารถกำหนดระยะเวลาชำระเบี้ย ระยะเวลาความคุ้มครอง และปรับเพิ่มหรือลดทุนประกันชีวิตได้ตลอดสัญญา
สัญญาเพิ่มเติม
เป็นสัญญาที่คุ้มครองเพิ่มเติมจากความคุ้มครองหลัก โดยการจะทำสัญญาเพิ่มเติมประกันชีวิตผู้ทำประกันจำเป็นจะต้องทำประกันชีวิตสัญญาพื้นฐานที่กล่าวข้างต้นก่อน เปรียบเหมือนกับรถไฟที่ต้องมีหัวรถจักรก่อนถึงจะมีตู้โดยสารเพิ่มเติมได้
สัญญาเพิ่มเติมประกันชีวิตจะแบ่งเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่
1. คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและอุบัติเหตุ
คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามจริง จากโรคภัยหรืออุบัติเหตุ ทั้งแบบผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ารักษา ค่าผ่าตัด เป็นต้น โดยวงเงินที่คุ้มครองจะขึ้นอยู่กับแบบประกันสุขภาพที่เลือก ปัจจุบันมีให้เลือกทั้งแบบ แยกค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA)
2. คุ้มครองค่าชดเชยรายได้
คุ้มครองกรณีรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน (IPD) จะได้รับเงินค่าชดเชยรายวัน ตามจำนวนวันที่รักษาตัว โดยจำนวนเงินค่าชดเชยขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่เลือก
3. คุ้มครองโรคร้ายแรง
คุ้มครองกรณีตรวจพบโรคร้ายแรง ตั้งแต่โรคระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง และระยะลุกลาม โดย จ่ายเงินค่าชดเชยเป็นก้อน หรือแบ่งเป็นงวดๆ บางแบบอาจมีการคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเพิ่มเติมด้วย
4. คุ้มครองอุบัติเหตุ
คุ้มครองกรณีประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต โดย จ่ายเงินค่าชดเชยตามตารางผลประโยชน์ที่เลือก
5. คุ้มครองผู้ชำระเบี้ย
คุ้มครองผู้จ่ายเบี้ยประกันในกรณีทุพพลภาพ ตรวจพบโรคร้าย หรือเสียชีวิต โดย บริษัทประกันจะชำระเบี้ยประกันชีวิตแทนจนครบกำหนดสัญญาโดยได้รับความคุ้มครองชีวิตเช่นเดิม
ประกันสำหรับพนักงาน
นอกจากนี้ถ้าเราเป็นพนักงานบริษัทจะมีประกันอีก 2 ตัวที่เกี่ยวข้องกับเรา นั่นคือ ประกันกลุ่ม และประกันสังคม
ประกันกลุ่ม (ไม่บังคับ)
เป็นการรับทำประกันภัยบุคคลแบบหลายคน ภายใต้กรมธรรม์เดียวส่วนมากจะเป็นนายจ้างหรือบริษัทฯทำประกันกลุ่มให้กับพนักงาน โดยจะมีตั้งแต่ ประกันสุขภาพกลุ่ม ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม รวมไปถึงประกันชีวิตกลุ่ม เพื่อเป็นสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับพนักงาน ซึ่งความคุ้มครองอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งของงานที่ทำ
ประกันสังคม (บังคับ)
เป็นสวัสดิการภาคบังคับที่นายจ้างต้องสมัครให้เรา โดยพนักงานมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน และมีบริษัท รัฐบาล สมทบเงินให้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเงินส่วนนี้จะแบ่งออกเป็นสวัสดิการสำหรับ เงินชราภาพ ทุพพลภาพ การว่างงาน การคลอดบุตร รวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยด้วย
แยกได้ดังนี้
- เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ การรักษาทั้งอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย สามารถเข้ารับการรักษาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และในกรณีเป็นผู้ป่วยใน เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ยกเว้น ค่าห้องและค่าอาหาร เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท
- เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของเอกชน กรณีผู้ป่วยนอกเบิกค่ารักษาได้ไม่เกิน 1,000 บาท กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลกรณีไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท ค่าห้องกรณีรักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท กรณีต้องผ่าตัดใหญ่เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000 – 16,000 บาทตามระยะเวลาการผ่าตัด
กรณีทันตกรรม เข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม (ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้จาก สำนักงานประกันสังคม ) สามารถรับค่าบริการทางการแพทย์ได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 900 บาทต่อปี
เมื่อเราเข้าใจในแบบประกันชีวิต และจุดเด่นของแต่ละแบบแล้ว เราจึงควรเลือกซื้อให้เหมาะกับเป้าหมายทางการเงิน รวมถึงจำนวนเงินชำระเบี้ยประกันภัยนั้น ต้องพอเหมาะกับรายได้ของเรา เพื่อที่ทำให้เราสามารถชำระเบี้ยประกันภัยได้ครบตามเงื่อนไขของสัญญา ถึงตรงนี้ เพื่อนๆ น่าจะเริ่มสงสัยกันแล้วว่า เราควรเลือกซื้อประกันแบบไหนถึงจะเหมาะสม?
หลักพื้นฐานที่มักจะนำมาใช้ในการเลือกคือ ช่วงวัย หรือ ความจำเป็นของช่วงวัยนั้นๆ โดยเราอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงวัยคือ ช่วงวัย 30 วัย 40 และวัย 50 ซึ่งเพื่อนๆ ที่อยากรู้ว่าตัวเองเหมาะกับประกันแบบไหน สามารถอ่านบทความ “ประกันแบบไหน เหมาะกับวัยของคุณที่สุด?” ต่อได้เลยครับ
เรามุ่งมั่นพัฒนาบริการ เพื่อยกระดับสุขภาพการเงิน ทั้งในระดับโรงเรียน และองค์กร ผ่านโปรแกรมหลักสูตรที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับบริบทของคนไทยโดยเฉพาะ