วางแผนการเงิน ด้วยตัวเอง 6 steps

วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ง่ายๆ 6 steps ด้วย Excel Form

รู้หรือไม่ ใน 1 เดือน เพื่อนๆ หมดเงินจากการกินข้าวเดือนละกี่บาท

รู้หรือไม่ ตอนนี้เพื่อนๆ มีเงิน ทอง บ้าน รถ มูลค่ารวม แล้วเท่าไหร่

รู้หรือไม่ เงินที่ใช้อยู่พอจริงๆ หรือเราแอบใช้เงินอนาคตอยู่โดยไม่รู้ตัว

รู้และวางแผนการเงินให้เป็น

นี่แหละครับ วันนี้เลยจะมาช่วยเพื่อนๆ ทำแผนการเงินกัน! เงินเข้าเราต้องรู้ เงินออกเรายิ่งต้องรู้เข้าไปใหญ่ “คุมเงินตัวเองได้ฉันใด เราก็คุมอนาคตตัวเองได้ฉันนั้น” โดยเริ่มต้นง่ายๆ จาก Excel Form ที่ Money Class มีให้โหลดกัน ฟรี ได้เลย!

โหลดฟรี Template วางแผนการเงิน (Excel Form)

ในลิงค์นี้ นอกจาก Excel Form วางแผนการเงินแล้ว ยังมี VDO จากโค้ชหนุ่ม ที่แนะนำการใช้งานไว้แบบละเอียดยิบๆๆๆๆ เลยทีเดียว เพื่อนๆ คนไหนโหลดแล้วมาเริ่มต้นทำตาม 6 ขั้นตอนกันได้เลย

1. รู้จัก ตาราง 2 ชุด “งบกระแสเงินสด” กับ “งบแสดงฐานะการเงิน”

วางแผนการเงินด้วยตัวเอง - Money Class

แผนที่ 1 “รายรับ/รายจ่าย” หรือ งบกระแสเงินสด

คือ งบที่ทำให้เรารู้ว่า เรามีรายรับมาจากอะไรบ้าง และเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง หัวใจของงบนี้คือ “ห้ามติดลบ” หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “สภาพคล่อง” นั่นเอง (คลิกอ่าน 6 เทคนิคสร้างสภาพคล่อง)

ตัวอย่างของรายรับ ก็อย่างเช่น เงินเดือน โบนัส ดอกเบี้ย หรือค่าเช่าจากคนเช่า
ส่วนรายจ่าย ก็เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร เป็นต้น

ถ้ารายรับ > รายจ่าย เราก็อยู่แดน “บวก”
ถ้ารายรับ < รายจ่าย เราก็อยู่แดน “ลบ” (ใครอยู่ฝั่งนี้ต้องรีบแก้โดยด่วน)

แผนที่ 2 “ทรัพย์สิน/หนี้สิน” หรือ งบแสดงฐานะการเงิน

คืองบที่ใช้บอกฐานะที่แท้จริงของคนคนนั้น ว่ารวยจริงป่าววว!! หรือบางคนเรียกเท่ๆ ว่า “ความมั่งคั่งสุทธิ ” โดยเราจะดูจาก สินทรัพย์ และ หนี้สิน ทั้งหมดของคนๆ นั้น

หัวใจของงบนี้คือ “เรามีฐานะเป็นอย่างไร” ซึ่งโดยปกติ ทรัพย์สิน – หนี้สิน ควรเป็นบวก (+)

ตัวอย่างสินทรัพย์ ก็อย่างเช่น เงินสดในบัญชี ทองคำ เครื่องประดับ นาฬิกา หรือ รถ
ส่วนหนี้สิน ก็เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้รถ หนี้กู้ยืมนอกระบบ เป็นต้น

2. รู้จักสถานะการเงินของตัวเอง ฉันเป็นคนใช้เงินแบบไหน?

วางแผนการเงินด้วยตัวเอง - Money Class

“ก่อนจะเริ่มต้นออกเดินทาง เราควรเช็คสถานะหรือสุขภาพการเงินของตัวเองกันก่อน” เพียงตอบคำถามง่ายๆ 12 ข้อ แค่ตอบ “Yes” หรือ “No”

  • ใครที่ตอบ “No” เกือบทั้งหมด แปลว่าเพื่อนๆ ดูแลตัวเองดีมากๆ เลยครับ ขอชื่นชม
  • แต่ถ้าใครตอบ “Yes” เยอะหน่อย แปลว่าเราต้องเริ่มต้น “ใส่ใจ” การเงินของตัวเองมากขึ้นแล้วนะ แต่ไม่ต้องกังวลไป ไม่สายเกินจะเริ่ม! ผมเป็นกำลังใจให้นะครับ

3. รู้ความจริง เริ่มเติมตัวเลขในช่องว่าง ได้เลย!

วางแผนการเงินด้วยตัวเอง - Money Class

มาถึงตรงนี้ อยากชวนเพื่อนๆ มาเล่นซ่อนแอบกันครับ เพราะเหมือนเราจะมีเงินซ่อนไว้ในที่ต่างๆ เต็มไปหมด แต่ไม่เคยเอามากองรวมกันเลย วันนี้เราเลยจะมาตามหาเงินเหล่านั้น และรวมตัวเลขกันครับ

ซึ่งจาก Excel ที่โหลดมา จะถูกแบ่งเป็น 2 Sheet คือ
1. งบกระแสเงินสด (งบประมาณและภาษี)
2. งบแสดงฐานะการเงิน

================================

มาเริ่มกันในส่วนของ (1) “งบกระแสเงินสด

ให้เริ่มต้นจากใส่อดีตก่อนครับ ว่าที่ผ่านมาเรามีรายได้ เงินออม และ รายจ่ายแต่ละเดือนอะไรบ้าง ซึ่งอาจจะเปิดดูจาก app ใบเสร็จ ค่าน้ำไฟ ค่าน้ำมัน ใบเสร็จรับเงินเดือน ต่างๆ ก็พอจะช่วยเราประเมินได้ครับ

โดยฝั่งรายได้ฮูกคิดว่าคงไม่มีปัญหา เพื่อนๆ น่าจะเติมตัวเลขกันได้แน่นอน มาดูฝั่งรายจ่ายดีกว่าครับ เราแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

  • รายจ่ายเพื่อการออมและลงทุน = เงินฝาก กองทุนรวม หุ้น
  • รายจ่ายคงที่ = รายจ่ายที่ต้องจ่ายคงที่ทุกๆ เดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ
  • รายจ่ายผันแปร = รายจ่ายที่ผันแปรไม่เท่ากันในแต่ละเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว

================================

ส่วน (2) “งบแสดงฐานะการเงิน

ให้เริ่มต้นจากฝั่งทรัพย์สินก่อน โดยไล่ดูจากทรัพย์ในตารางว่าเรามีทรัพย์ตัวนั้นไหม ถ้ามีมีเท่าไร แล้วเติมตัวเลขมูลค่าลงไป จากนั้นให้ดูต่อว่าทรัพย์นั้นนอนอยู่เฉยๆหรือหาเงินให้เราด้วย

ถ้ามันหาเงินให้เราด้วย เช่น มันให้ดอกเบี้ยเรา หรือมันให้ค่าเช่าเรา ให้ประเมินต่อว่าแล้วมันหาให้เราประมาณปีละเท่าไร” (ตอนประเมินให้เติมต่ำๆ ไว้ก่อนนะครับ อย่าใส่เยอะ เดี๋ยวใจคอไม่ดี ฮ่าๆ)

FAQ : แล้วรถกับบ้านพี่ต้องประเมินยังไง?

แนะนำให้เปิดดูราคาบ้าน ราคารถ ณ วันที่เราหาข้อมูลครับ ให้คิดว่าถ้าวันนี้เราขายเป็นเงินสดขึ้นมา จะได้กี่บาท (ทองคำ เครื่องประดับ นาฬิกา ก็คิดเหมือนกันเลยครับ)

เมื่อใส่ช่องสินทรัพย์ครบแล้วลองมาใส่ช่องหนี้สินกันบ้าง ส่วนใหญ่จะมี 2 ประเภท คือ

  • หนี้สินระยะสั้น เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนสินค้า
  • หนี้สินระยะยาว เช่น หนี้บ้าน หนี้คอนโด

พยายามใส่ให้ครบนะครับ ทั้งยอดหนี้คงเหลือ ดอกเบี้ย และ ยอดชำระขั้นต่ำ หลังจากกรอกตัวเลขครบทั้งหมดแล้ว ในหน้านี้จะเห็นเลยว่าเรารวยจริงๆ แค่ไหน จากความมั่งคั่งสุทธิตัวเลขในส่วนนี้จะมาจาก ( สินทรัพย์รวมหนี้สินรวม = ความมั่งคั่งสุทธิ )

ความมั่งคั่งสุทธิจะทำให้เราเห็นถึง ส่วนที่เป็นสินทรัพย์ของเราจริงๆ นั่นเอง

4. เช็คความรวย ผ่าน 7 ตัวชี้วัด

วางแผนการเงินด้วยตัวเอง - Money Class

มี 7 อัตราส่วน มาให้เช็คกันครับว่าการเงินของตัวเราเองเป็นอย่างไร

1. อัตราส่วนเงินออม + ลงทุน ต่อรายได้
= ควรออมมากกว่า 10% ของรายได้

2. อัตราส่วนชำระหนี้ ต่อ รายได้
= ควรมีหนี้น้อยกว่า 50% ของรายได้

3. อัตราส่วนเงินสำรอง
= ควรมีมากกว่า 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน

4. อัตราส่วนความอยู่รอด
= ถ้า > 1 อยู่รอด

5. หนี้สินต่อทรัพย์สิน
= ควร < 30% หากไม่มีทรัพย์ชิ้นใหญ่ และ ควร < 50% หากมีหนี้บ้านและรถอยู่ด้วย

6. ความมั่งคั่งสุทธิ
= ควรเป็นบวก (+)

7. อัตราส่วนความมั่งคั่ง
= ถ้า > 1.5 แปลว่ามีอิสรภาพทางการเงิน

แต่อย่าพึ่งตกใจไปครับ ถ้าตัวเลขของเพื่อนๆ ยังไม่ถึงตามเกณฑ์ที่ฮูกแนะนำไว้ เพราะนี่เป็นแค่การเช็คสถานะการเงินของตัวเองเฉยๆ เพื่อให้เราสามารถวางเป้าหมายได้ดีขึ้น และ เริ่มต้นไปพร้อมกันครับ

5. กำหนดอนาคตของตัว ด้วยการวางงบล่วงหน้า

วางแผนการเงินด้วยตัวเอง - Money Class

การวางงบล่วงหน้า ต้องเริ่มต้นจากเป้าหมายก่อนครับ ว่าเราอยากที่จะ “ออมและลงทุน” สัดส่วนเท่าไร? (ควรอยู่ในช่วง 10-15% ของรายได้)

จากนั้นค่อยดูว่า

  • ในอนาคตจะมีรายรับก้อนใหญ่ไหม ถ้ามี มีเมื่อไร
  • ในอนาคตจะมีรายจ่ายก้อนใหญ่ไหม ถ้ามี มีเมื่อไร

ถัดไปลองประเมินว่า

  • เราสามารถปรับลด ค่าใช้จ่ายคงที่ อะไรเพิ่มได้หรือไม่?
  • เราจะควบคุมค่าใช้จ่ายผันแปรในแต่ละรายการต่อเดือนให้อยู่ที่เท่าไร

ซึ่งเมื่อประเมิน และลองใส่ตัวเลขแล้ว ให้สังเกตบรรทัดสุดท้าย “เงินสดคงเหลือ” เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เราควรทำให้ผลเป็นบวก

หากยังติดลบให้ลองปรับดูดังนี้

  1. ดูจากรายจ่ายคงที่ก่อน ว่าเราสามารถลดค่าใช้จ่ายอะไรได้อีกบ้าง เช่น ลดหนี้บัตรเครดิต, เปลี่ยนที่อยู่เพื่อลดค่าเช่าบ้าน, เปลี่ยนการเดินทางมาใช้รถสาธารณะ หรือปรับลดค่าโทรศัพท์รายเดือน
  2. ลองควบคุมให้รายจ่ายผันแปรลดลงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลองประเมินดูว่าถ้าใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ เราไหวที่เท่าไร แต่ที่สำคัญคืออย่าลดจนเราลำบากนะ
  3. ลองปรับสัดส่วนเงินออม เงินลงทุน ถ้า 10% ยังไม่ไหว ลดเหลือ 5% ก่อนได้ไหม แต่ส่วนนี้ฮูกแนะนำว่าต้องมี “ออม” บ้างนะครับ อย่าถึงขั้นตัดจนไม่มีเลย

6. ลงมือทำสม่ำเสมอและปรับปรุงทุก 3 เดือน

วางแผนการเงินด้วยตัวเอง - Money Class

สุดท้ายครับ อยากให้เพื่อนๆ ลองติดตามแผนการเงินของตัวเองดู ขอทุกๆ 3 เดือนนะ ลองดูว่า

  • เราทำได้ตามแผนบ้างไหม ทั้งการออม การใช้จ่าย ลองเปิดบัญชีดูเล่นๆ ก็ได้ว่าเงินเราโตขึ้นรึเปล่า
  • ผ่านมา 3 เดือนเราเหนื่อยหรืออึดอัดไปไหม หรือว่าสบายเกินไปรึเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้นลองขยับตัวเลขสักหน่อยให้เป็นไปตามความต้องการเรามากขึ้น
  • ปรับตัวเลขฐานะการเงินของเราซักหน่อย เวลาผ่านไป จากวันนั้นถึงวันนี้เรารวยขึ้นไหม แล้วรวยขึ้นเท่าไร (ตรงนี้อาจจะ 6 เดือนครั้งก็ได้นะ น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดกว่า)
  • เงินลงทุนที่ลงทุนไป ได้ผลตอบแทนตามที่วางแผนไว้ไหม ก่อนจะปรับการลงทุน ก็ลองศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่จะปรับแผนลงทุนด้วยนะครับ

หมดแล้วกับ 6 ขั้นตอนง่ายๆ เพียงเท่านี้เพื่อนๆ ก็สามารถวางแผนการเงินของตัวเองได้แล้ว ใครทำแล้ว เป็นอย่างไร มีความสุขมากขึ้นไหม อย่าลืมมาบอกกันด้วยนะครับ

พิเศษ !!  เฉพาะเดือนนี้ ส่วนลดคอร์สออนไลน์วางแผนการเงิน “ซื้อครั้งเดียว เรียนได้ตลอดชีวิต” 
Money Wellness คอร์สออนไลน์ - Money Class
และพิเศษ !! ขอรับคำปรึกษาฟรี “โปรแกรมหลักสูตรพัฒนาทักษะการเงินสำหรับองค์กร และโรงเรียน” 
โปรแกรมหลักสูตรพัฒนาการเงินสำหรับองค์กร - Money Class
หลักสูตรสำหรับโรงเรียนเพื่อพัฒนาทักษะการเงิน - Money Class