กองทุนรวม คือ อะไร?
กองทุนรวม คือ การที่ผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นนิติบุคคลระดมเงินทุนจากคนจำนวนมากเพื่อลงทุนตามนโยบายต่างๆ ของกองทุนนั้น แล้วนำผลกำไรที่ได้มาเฉลี่ยคืนให้ผู้ซื้อหน่วยลงทุน โดยมีสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนได้หลากหลาย ตั้งแต่เสี่ยงต่ำไปจนถึงเสี่ยงสูง
ในปัจจุบัน..ปฎิเสธไม่ได้ว่าการลงทุนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคนไปแล้ว ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่มีแต่จะต่ำลงทุกวันๆ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อในอนาคตที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้น การวางเงินไว้ในธนาคารนิ่งๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้วสามารถเกษียณได้ คงเป็นไปได้ยากแล้วในตอนนี้
มีคนส่วนมากที่เข้าใจเรื่องนี้ดี และกระโดดเข้ามาลงทุนโดยมุ่งเป้าไปที่การลงทุนในหุ้นเพราะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงและรวดเร็ว จะเห็นได้จากการโพสต์อวด % กำไรกันอย่างมากมายในโลกโซเชียล ซึ่งหลายต่อหลายครั้งคนพวกนี้จะทำกำไรจากการขึ้นของสภาวะตลาดที่ไม่ว่าจะหลับตาจิ้มหุ้นตัวไหนก็ขึ้นหมด ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์นั้นจริงๆ สุดท้ายเมื่อลงทุนแบบไม่มีความรู้ พอเจอวิกฤตของจริงเข้าไปก็ทำให้ขาดทุนถึงกับหมดตัวได้เลย หรือบางคนอาจมี Mindset ที่ไม่ดีกับการลงทุนพาลไม่ลงทุนอีกเลยก็เป็นได้
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการลงทุนคือ ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังลงทุนอยู่แต่ถ้าเพื่อนๆ เป็นหนุ่มสาวออฟฟิศ ซึ่งแน่นอนว่ามีข้อจำกัดสำคัญในเรื่องนี้คือ “ไม่มีเวลา” ศึกษาลงทุน หรือไม่สามารถติดตามตลาดเศรษฐกิจได้ตลอด ทำให้ไม่มีความรู้ และความกล้าพอที่จะลงทุนเอง
จึงเกิดสินทรัพย์การเงินชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “กองทุนรวม” มาช่วยปิดช่องโหว่เหล่านี้เพราะ กองทุนรวมเป็นสินค้าการเงินที่มีผู้เชี่ยวชาญดูแลตลอด สามารถลงในสินทรัพย์ได้หลากหลายไม่จำเป็นต้องไปลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงเพียงอย่างเดียว สามารถเริ่มลงทุนได้ด้วยเงินจำนวนน้อย (บางกองทุน 1 บาทก็สามารถลงทุนได้แล้ว) ที่พิเศษกว่านั้นคือมีกองทุนบางกองสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
รู้อย่างนี้แล้วเราไปทำความรู้จักเพิ่มเติมกับกองทุนรวมกันเลยดีกว่าครับ
ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม มีอะไรบ้าง?
ความเสี่ยงระดับที่ 1
กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ
กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 1 ปี ของสถาบันต่างๆ มีความเสี่ยงต่ำมาก เพราะส่วนมากจะออกโดยองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ เช่นธนาคาร
ความเสี่ยงระดับที่ 2
กองทุนรวมตลาดเงินต่างประเทศ
กองทุนของคนไทยที่นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ซึ่งจะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเข้ามา แต่ส่วนมากจะมีการคำนวณเพื่อลดความเสี่ยงในส่วนนี้ไว้แล้ว
ความเสี่ยงระดับที่ 3
กองทุนรวมพันธบัตร
กองทุนที่มีนโยบายในการลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจ ส่วนมากมีอายุการถือครองนานกว่า 1 ปีจึงมีความเสี่ยงด้านอัตรเงินเฟ้อเพิ่มเข้ามา
ความเสี่ยงระดับที่ 4
กองทุนรวมตราสารหนี้
กองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน มีความเสี่ยงกับความขึ้นลงของกิจการที่กองทุนไปลงทุนอยู่
ความเสี่ยงระดับที่ 5
กองทุนรวมผสม
กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ร่วมกับตราสารทุน (หุ้น) ความเสี่ยงจะพิจารณาจากนโยบายสัดส่วนในการลงทุน
ความเสี่ยงระดับที่ 6
กองทุนรวมตราสารทุน
กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกิจการต่างๆ เนื่องจากหุ้นมีความผันผวนค่อนข้างมากจึงทำให้การลงทุนในตราสารทุนมีความเสี่ยงมากตามไปด้วย
ความเสี่ยงระดับที่ 7
กองทุนรวมเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม
กองทุนรวมที่มีนโยบายในการลงทุนในธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่นธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโทรคมนาคม ความเสี่ยงของกองทุนประเภทนี้คือธุรกิจในกลุ่มเดียวกันจะมีทิศทางในการเติบโตขึ้นลงคล้ายกัน หมายความว่ามีโอกาสจะกำไรทั้งหมด หรือขาดทุนทั้งหมด
ความเสี่ยงระดับที่ 8
กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก
กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในทรัพย์สินอื่นๆ ที่ไม่ใช่สินทรัพย์พื้นฐานที่ไม่ใช่หุ้นหรือกองทุนและมีโครงสร้างการลงทุนที่ซับซ้อน เช่นทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ
Fund Fact Sheet หลักสำคัญในการเลือกกองทุน
หนังสือชี้ชวน (Fund Fact Sheet) เป็นสิ่งสำคัญที่เพื่อนๆต้องอ่านทุกครั้งก่อนการลงทุนในกองทุน โดยมี 5 สิ่งที่ควรรู้ก่อนลงทุน หรือเป็นหลักสำคัญในการเลือกกองทุนดังนี้
1. นโยบาย/กลยุทธ์การลงทุน
- ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน? อาจจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อสังหาฯ ตราสารหนี้ และอื่นๆ ซึ่งสินทรัพย์แต่ละประเภทก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป
- มีกลยุทธ์การลงทุนแบบไหน? หากเป็น active กองทุนจะพยายามเอาชนะดัชนีชี้วัด แต่หากเป็น passive กองทุนจะพยายามเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับดัชนีชี้วัด
- ระดับความเสี่ยงเป็นเท่าไร? (ตัวเลข 1-8) ยิ่งตัวเลขเยอะก็ยิ่งเสี่ยงสูง
- มีจ่ายปันผลหรือไม่ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องการปันผลรึเปล่า?
2. พอร์ตการลงทุน 5 อันดับแรก
- สัดส่วนการลงทุนของแต่ละสินทรัพย์เป็นยังไง ตรงกับนโยบายการลงทุนไหม แล้วลงทุนในบริษัทอะไรบ้าง?
- ถ้าเป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ลองดูว่ากองทุนต่างประเทศที่กองทุนไทยไปลงทุน (Master Fund) ลงทุนในบริษัทอะไรบ้าง? (ถ้าใน fund fact sheet บอกนะ)
3. ผลการดำเนินงานย้อนหลัง
- เทียบในกองทุนเองแต่ละปีว่ามีความสม่ำเสมอหรือไม่ และเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ด้วยว่าทำได้สูงกว่าหรือต่ำกว่า? ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืมว่าผลการดำเนินงานนั้นสะท้อนเพียงอดีต ให้เราพอเห็นภาพ ไม่สามารถยืนยันอนาคตได้ว่าจะทำได้ดีเหมือนอดีต
4. ความเสี่ยง
- เคยขาดทุนสูงสุดเท่าไร ตัวเลขนี้จะทำให้เราเห็นภาพว่ากรณีร้ายแรงที่สุดในอดีตเป็นยังไง ลองถามตัวเองดูว่าถ้าเจอแบบนี้แล้วรับได้ไหม?
- ความผันผวนของผลการดำเนินงาน (Standard deviation) เป็นเท่าไร? ค่านี้ยิ่งเยอะ ยิ่งผันผวนมาก
5. ค่าธรรมเนียม/ข้อมูลการซื้อขาย
- ค่าธรรมเนียมนั้นจะมีทั้งแบบที่ระบุว่าจะคิดไม่เกินเท่าไร และเก็บจริงตอนนี้เท่าไร
- ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวมเป็นเท่าไร? ส่วนที่ปรากฏใน Fund Fact Sheet นั้นคิดเป็น % ต่อปีของ NAV โดยจะถูกคำนวณแล้วหักออกทุกวัน ก่อนจะมาเป็น NAV ให้เราซื้อขายกัน
- ค่าธรรมเนียมขาย/รับซื้อคืนเท่าไร? ค่าธรรมเนียมนี้คือค่าใช้จ่ายที่เราเสียตอนซื้อขายกองทุน คล้ายๆ ค่า commission น่ะเอง คิดเป็น % ของมูลค่าซื้อขาย
- ขั้นต่ำการซื้อเป็นเท่าไร? นี่คือมูลค่าขั้นต่ำที่เราต้องซื้อ ซึ่งมีทั้งขั้นต่ำในการซื้อครั้งแรกและขั้นต่ำในการซื้อครั้งถัดไป ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละกอง
“อย่าใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน” ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว
หลายคนเข้าใจผิดว่าการจะทำผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว การเลือกกองทุนที่ทำผลตอบแทนดี คือปัจจัยหลักสำคัญในการประสบความสำเร็จ แต่จากผลสำรวจของ Financial Analyst Journal พบว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผล 5% โดยปัจจัยการจับจังหวะการลงทุนส่งผล 2% และปัจจัยอื่นๆส่งผล 2% สิ่งที่เป็นหัวใจหลักของการลงทุนกลับเป็นการกระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ซึ่งส่งผลถึง 91%
สาเหตุที่ต้องกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ
เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวม เพราะแต่ละสินทรัพย์ก็จะมีลักษณะที่ต่างกัน ไม่มีสินทรัพย์ใดในโลกที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดตลอดเวลา โดยเพื่อนๆแต่ละคนอาจจัดสัดส่วนการลงทุนที่แตกต่างกันตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ถ้าอยากรู้ว่าเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหนทดลองทำแบบทดสอบได้เลยที่ https://www.set.or.th/education/th/
online_classroom/risk.html
ตัวอย่างการจัดพอร์ตตามความเสี่ยงที่รับได้
1. แบบระมัดระวัง
- กองทุนรวมตลาดเงิน 30%
- กองทุนรวมตราสารหนี้ 40%
- กองทุนรวมหุ้น 20%
- กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก 10%
2. แบบปานกลาง
- กองทุนรวมตลาดเงิน 20%
- กองทุนรวมตราสารหนี้ 30%
- กองทุนรวมหุ้น 40%
- กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก 10%
3. แบบเชิงรุก
- กองทุนรวมตลาดเงิน 10%
- กองทุนรวมตราสารหนี้ 10%
- กองทุนรวมหุ้น 70%
- กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก 10%
หมายเหตุ : ทั้งนี้เป็นเพียงแค่แนวทางจัดพอร์ตคร่าวๆ ตามความเสี่ยง และผลตอบแทนเท่านั้น การนำไปใช้ควรปรับให้เหมาะสมกับอายุที่สามรถรับความเสี่ยงได้(ยิ่งอายุน้อยยิ่งเสี่ยงสูงได้ เพราะยังไม่จำเป็นต้องรีบใช้เงินในเร็วๆนี้) และปรับให้เหมาะกับเป้าหมายการลงทุนของแต่ละคนอีกครั้ง โดยที่ต้องไม่ลืมว่ายิ่งคาดหวังผลตอบแทนสูงก็ต้องแลกกับความเสี่ยงในการขาดทุนที่สูงตามมาด้วย
กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับพนักงาน
Dollar Cost Averaging (DCA) คือ กลยุทธ์การลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยจำนวนเงินที่เท่าๆ กันในทุกงวดการลงทุน อาจจะเป็นทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกไตรมาส โดยไม่สนใจว่าราคาของสินทรัพย์ลงทุนที่จะซื้อตอนนั้นเป็นราคาเท่าไหร่
โดยผมขอยก 3 เหตุผลว่าทำไม DCA จึงเป็นกลุยุทธ์การลงทุนที่เหมาะกับพนักงานมากที่สุด
1. กระจายความเสี่ยงการเข้าลงทุน
เป็นพนักงานบริษัทแค่ทำงานกลับบ้านก็เหนื่อยแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนมานั่งตีกราฟหาจังหวะการเข้าลงทุนอีก เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นข้อดีที่สุดของกลยุทธ์ DCA คือจะช่วยทำให้เราได้ต้นทุนเฉลี่ยทั้งช่วงที่ราคาสูงและต่ำในทุกสภาวะตลาด เป็นการลดความเสี่ยงจากการลงทุนครั้งเดียวแล้วราคาของสินทรัพย์ลดลง
2. ลดผลกระทบจากอารมณ์และความรู้สึกต่อการลงทุน
การลงทุนไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวเลข โดยจะมีอารมณ์ (Fear & Greed) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
โดยเฉพาะช่วงวิกฤต หากมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนปรับตัวลดลงแทนที่เราจะกังวล DCA กลับเป็นตัวช่วยในการได้โอกาสสะสมต้นทุนที่ราคาต่ำ เพราะเราเข้าทยอยลุงทุนทุกเดือนอยู่แล้ว3.สร้างวินัยในการลงทุน
เคยเป็นไหมครับตั้งใจว่าจะลงทุนสุดท้ายนำเงินไปใช้จ่ายค่านั่นค่านี่ไม่ได้ลงทุนสักที
DCAจะสามารถช่วยเพื่อนๆได้ โดยวิธีคือให้เพื่อนๆพนักงานเข้าไปในแอพพลิเคชั่นที่ซื้อกองทุนรวมให้ทำการตั้งรายการซื้อแบบ DCA และทำการหักเงินอัตโนมัติจากบัญชีธนาคารเงินเดือนเรา สมมุติถ้าเราได้รับเงินเดือนทุกปลายเดือน ให้เราตั้งหักเงินอัตโนมัติเข้าลงทุนในกองทุนทุกต้นเดือน เพียงเท่านี้ก็จะลดโอกาสการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และทำให้รับประกันได้ว่าเราจะได้ลงทุนทุกเดือนอย่างแน่นอน
“การลงทุนไม่มีคะแนนท่ายาก เพราะฉะนั้นถ้าเล่นท่าง่ายแล้วได้ผลลัพธ์ดีอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปเล่นท่ายาก”
รวมแหล่งที่เปิดบัญชีซื้อขาย กองทุนออนไลน์
เมื่อเข้าใจหลักการลงทุนในกองทุนรวมแล้ว ก็ได้เวลาเริ่มต้นลงทุนกองทุนแบบจริงจังสักที คำถามคือ แล้วจะเปิดบัญชีกับที่ไหนล่ะ? ถึงตรงนี้ถ้าใครกังวลเรื่องค่าธรรมเนียมอยู่ให้ลืมไปได้เลยครับ เพราะค่าธรรมเนียมของกองทุนแต่ละโบรกเกอร์จะเท่ากัน (โบรกเกอร์จะเจรจาแบ่ง % กับทางบลจ.เอง) ฉะนั้นเกณฑ์ในการเลือกโบรกเกอร์จะไม่มีค่าธรรมเนียมเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ควรดูหลักคือๆ
- โบรกเกอร์นั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
- มีบทวิเคราะห์การลงทุน ที่มีประโยชน์กับนักลงทุนอย่างเราไหม
- มีตัวช่วยในการลงทุนอะไรเพิ่มเติมไหม เช่น การช่วยจัดพอร์ต การปรับสัดส่วนพอร์ตอัตโนมัติ ฯลฯ
บทความนี้ผมรวบรวมที่ที่สามารถเปิดบัญชีออนไลน์ได้มาทั้งหมด 12 ที่ เพื่อนๆสามารถกดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิ้งค์ของแต่ละที่ได้เลยครับ
บริษัท หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน แอสเซนด์ เวลธ์ จำกัด
https://www.truemoney.com/startinvest
บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด
https://www.finnomena.com/plan-or-open-account
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด
https://www.kasikornasset.com/th/digital-service/Pages/k-my-funds.aspx
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
https://www.krungsri.com/th/personal/
digital-banking/kma/home
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
https://www.mfcfund.com/Web/
InvestingwithMFC(thth)/HowtoInvestwith
MFC(thth)/HowtoInvest(thth).aspx
บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน โรโบเวลธ์ จํากัด
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด
https://www.principal.th/th/
principalTH.html
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
https://www.scbam.com/medias/
campaign/landing-page/scbamfundclick.html
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำก้ด
http://www.scbs.com/th/easyinvest
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด
https://www.tiscoasset.com/upload/
myfunds_download.html
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
https://www.tmbbank.com/page/view/
not-supported-tmbtouch.html
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด
https://www.uobam.co.th/th/Channel/
OpenAccountnew
กล่าวโดยสรุป
กองทุนรวมเป็นสินค้าการเงินที่เหมาะกับเพื่อนๆพนักงาน หรือคนที่ยังไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนไม่มีเวลาในการติดตามกองทุนมากนัก และถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีตัวช่วยเรื่องการลงทุนในกองทุนรวมมากมายตั้งแต่ ขั้นตอนการเปิดพอร์ต การจัดพอร์ตกองทุน การตัดเงินลงทุนอัตโนมัติ ฯลฯ แต่สุดท้ายเงินที่ลงทุนไปก็เป็นเงินของเราเอง เราตั้งใจทำงานหาเงินมาด้วยความยากลำบาก การนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงิยโดยเชื่อใจคนอื่นแบบ 100% เลยก็คงแปลกๆใช่ไหมล่ะครับ
ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือ หาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องต่างๆที่เรายังไม่รู้ ติดตามข่าวสารบ้าง เพื่อดูแลเงินเราให้ดีที่สุด จำไว้นะครับว่า “ไม่มีใครรักเงินเรา มากกว่าตัวเราเอง” สุดท้ายผมไม่อยากพูดเหมือนโฆษณาเลย แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่านี่คือเรื่องจริงที่จำเป็นต้องพูด “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน”
ขอให้เพื่อนๆ ลงทุนอย่างมีความรู้ และสนุกไปกับการลุงทุนนะครับ
เรามุ่งมั่นพัฒนาบริการ เพื่อยกระดับสุขภาพการเงิน ทั้งในระดับโรงเรียน และองค์กร ผ่านโปรแกรมหลักสูตรที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับบริบทของคนไทยโดยเฉพาะ