ข้าราชการ เกษียณได้เงินอะไรบ้าง - Money We Plan

ข้าราชการ เกษียณได้เงินอะไรบ้าง

เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างอยู่แล้วว่าการรับราชการนั้น อาจจะไม่ได้มีเงินเดือนที่สูงมากนัก แต่มีผลประโยชน์อื่นๆ มาชดเชยมากมาย ทั้งสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความมั่นคง และ เวลาในการทำงานที่ชัดเจน (จันทร์-ศุกร์) หรือมาในรูปแบบของ สวัสดิการ เช่น การลา, ค่ารักษาพยาบาล, สวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร สิทธิการรับบำเหน็จ/บำนาญ เงินลงทุนใน กบข. เป็นต้น

ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อย อยากสอบบรรจุเข้าเป็นข้าราชการเพื่อรับสวัสดิการเหล่านั้น แต่อายุที่เริ่มเข้ารับราชการนั้นก็มีผลกับสวัสดิการสำคัญตัวหนึ่งเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ เงินเกษียณนั่นเอง เพราะ จะได้มากหรือน้อย จำนวนปีที่รับราชการมานั้นมีผลเป็นอย่างมาก บทความนี้จะเล่าให้ฟังถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการรับ บำเหน็จ บำนาญ สำหรับบุคคลที่เข้ารับราชการหลังวันที่ 27 มีนาคม 2540 (ถ้ารับราชการมาก่อนหน้าจะสามารถเลือกได้แตกต่างไปจากนี้)

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ กบข.

หากเราเป็นข้าราชการ เราจะเป็นสมาชิก กบข. ด้วยโดยอัตโนมัติ แต่จะไม่สามารถลาออกจาก กบข. ได้ในขณะที่ยังรับราชการอยู่ (พ.ร.บ. กบข. มาตรา 44) ไม่เหมือน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นการออมเงินภาคสมัครใจ สามารถออกจากการเป็นสมาชิกได้โดยยังไม่ต้องออกจากงาน โดยเงินสะสมเข้ากบข. จะมาจากการถูกหัก 3% จากเงินเดือน และ ได้รับสมทบ 3% จากรัฐ

ดังนั้นเราจะได้รับเงินก้อนนี้หลังออกจากการเป็นสมาชิก กบข. แล้วเท่านั้น ซึ่งก็คือเมื่อเรา ออกจากราชการนั่นเอง โดยจะได้รับเงินคืนทั้งส่วนของ เงินสะสม + เงินสมทบ + ผลประโยชน์จาก กบข. (เงินทั้งสองก้อนที่นำไปลงทุนตามแผนที่เลือก) แต่นอกจากเงิน กบข.แล้ว ข้าราชการจะได้รับบำเหน็จบำนาญเมื่อออกจากราชการด้วย โดยควรจะ ออกจากราชการด้วยเหตุต่างๆ ดังนี้ ลาออก ให้ออก ปลดออก เกษียณอายุ สูงอายุ ทุพพลภาพ ทดแทน เนื่องจากการออกจากราชการด้วยเหตุข้างต้น จะยังมีสิทธิในการรับ บำเหน็จบำนาญ ได้อยู่ถ้า อายุราชการเราเข้าเงื่อนไขดังนี้

1. ออกจากราชการด้วยเหตุ ลาออก ให้ออก ปลดออก

1.1 อายุราชการไม่ถึง 10 ปี : จะได้รับแต่ เงินสะสม + สมทบ + ผลประโยชน์ จาก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ไม่มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ

1.2 อายุราชการ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 25ปี : จะได้รับ เงินสะสม + สมทบ + ผลประโยชน์ จาก กบข. และ บำเหน็จ จาก กระทรวงการคลัง

1.3 อายุราชการ 25 ปีขึ้นไป : จะได้รับ เงินสะสม + สมทบ + ผลประโยชน์ จาก กบข. และ เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง บำเหน็จ หรือ บำนาญ

2. ออกจากราชการด้วยเหตุ เกษียณอายุ (60ปี) สูงอายุ (50ปี) ทุพพลภาพ ทดแทน

2.1 อายุราชการไม่ถึง 1 ปี : จะได้รับแต่ เงินสะสม + สมทบ + ผลประโยชน์ จาก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ไม่มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ

2.2 อายุราชการ 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี : จะได้รับ เงินสะสม + สมทบ + ผลประโยชน์ จาก กบข. และ บำเหน็จ จาก กระทรวงการคลัง

2.3 อายุราชการ 10 ปีขึ้นไป : จะได้รับ เงินสะสม + สมทบ + ผลประโยชน์ จาก กบข. และ เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง บำเหน็จ หรือ บำนาญ

สังเกตว่า เงื่อนไขในข้อ 1. กับ 2. จะแตกต่างกันเพียงจำนวนปี ที่ใช้เป็นเงื่อนไข เท่านั้นเอง ส่วนผลประโยชน์ที่ได้นั้นจะเหมือนกันส่วนถ้าออกจากราชการด้วยวิธีอื่นเช่น ถูกไล่ออก จะไม่ได้รับสิทธิเงินบำเหน็จบำนาญ แต่จะยังได้ เงินสะสม + สมทบ + ผลประโยชน์ จาก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นต้น

แปลว่า ถ้าเรามี อายุราชการที่มากกว่า สิทธิ เราก็จะได้มากกว่า หรือ เลือกได้มากกว่า ด้วยดังนั้นการเริ่มรับราชการตั้งแต่อายุยังน้อย หรือการได้นับเวลาทวีคูณ จึงเป็นผลประโยชน์ที่ดีมากๆ สำหรับข้าราชการ ทีนี้เราก็ต้องมาดูต่อ ว่าเงินสามส่วนที่จะได้มีอะไรบ้าง?

A. เงินกบข. = เงินสะสม 3% + เงินสะสมส่วนเพิ่มของสมาชิก(ถ้ามี) + เงินสมทบ 3% (จากรัฐ) + ผลประโยชน์จากเงินลงทุน

B. บำเหน็จ คิดจาก อายุราชการ × เงินเดือนสุดท้าย

C. บำนาญ คิดจาก อายุราชการ × เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ÷ 50

ในส่วนของ เงินกบข. นั้นเราไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้าเลยว่าเราจะได้เงินออกมาเท่าไหร่เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ถ้ามองดูที่ผลตอบแทนเฉลี่ยของ กบข. แล้วถือว่าทำผลงานได้ดีมากโดย แผนหุ้น 65 : เสี่ยงสูง ลุ้นเพิ่มผลตอบแทน มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.94% ตั้งแต่ตั้งกองทุนเมื่อปี 2556 (ข้อมูล ณ. 31 ธันวาคม 2564)

 

บำนาญมักให้ผลตอบแทนดีกว่าบำเหน็จ ในระยะยาว

สำหรับบำเหน็จ/บำนาญ นั้น ถ้าไม่มีความจำเป็นในการใช้เงินก้อนจริงๆ การรับบำนาญมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าบำเหน็จ เช่น หากมีอายุราชการ 25 ปี อาจจะได้เงินบำนาญสูงถึง 50% ของเงินเดือนสุดท้าย เลยก็ได้

 

ความคิดเห็นของผู้เขียน : ข้าราชการถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีเครื่องมือช่วยเตรียมแผนเกษียณอายุให้ค่อนข้างพร้อมอยู่แล้ว ทั้งในส่วนที่รู้ผลตอบแทนล่วงหน้าอย่าง บำเหน็จ หรือ บำนาญ และ ส่วนที่ไม่รู้ผลตอบแทนล่วงหน้าแต่สามารถเลือกบริหารให้เหมาะกับเราได้จากแผนลงทุนที่มีให้เลือกหลากหลายอย่าง เงิน กบข. ซึ่งจะเพียงพอหรือไม่ จะต้องแบ่งเงินมาลงทุนเพิ่มไหม นักวางแผนการเงิน ส่วนใหญ่จะสามารถคำนวณตัวเลขแผนเกษียณให้ท่านได้อย่างง่ายดายอยู่แล้ว เพียงแค่ท่านบอกความต้องการทางการเงินให้เค้าไปแบบไม่ปิดบัง

สำหรับพนักงานที่ไม่มีสวัสดิการดีๆ แบบนี้ อย่าพึ่งอิจฉาเพื่อนๆข้าราชการนะครับ เราเองก็สามารถทำแผนเกษียณแบบนี้ได้ผ่านเครื่องมือภาษีในส่วน เงินก้อนเกี่ยวกับการลงทุนและเกษียน 500,000บาท ไม่ว่าจะเป็น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ PVD, กองทุนรวมเพื่อการออม SSF, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF, ประกันบำนาญ Annuity แค่นี้เราก็เกษียณสุขได้ไม่ยากแล้วครับ