
หากจะเปรียบเทียบ “เกมการเงินชีวิตจริง” กับ “เกมกีฬา” ฮูกขอเปรียบเทียบกับเกมกีฬาฟุตบอล ชัยชนะในเกมก็เหมือนกับการบรรลุเป้าหมายการเงินได้ในชีวิตจริง ถ้าอยากชนะเกมนี้ เราจำเป็นต้องวางแผนการเล่นอย่างรอบคอบ มีวินัยการฝึกซ้อมที่สูง และใช้กลยุทธ์ต่างๆเพื่อเอาชนะคู่แข่งให้ได้
โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของเกมฟุตบอลคือ “การเลือกนักเตะทั้ง 11 คน ลงสนาม” แน่นอนว่านักเตะแต่ละคนมีความสามารถ จุดแข็ง จุดอ่อนที่แตกต่างกันไป เราในฐานะโค้ชจึงต้องทำความรู้จักกับนักเตะแต่ละคนให้มากพอ และเลือกนักเตะให้เข้ากับตำแหน่งหน้าที่ในสนามซึ่งได้แก่ ผู้รักษาประตู กองหลัง กองกลาง และ กองหน้า เพื่อเค้นเอาจุดแข็งของนักเตะออกมาให้มากที่สุด
เช่นเดียวกับการเลือกสินค้าทางการเงินในชีวิตจริงมาจัดเป็นพอร์ตการเงินของเรา ดังนั้นบทความนี้ฮูกจะขออธิบายลักษณะของสินทรัพย์การเงินแต่ละชนิดว่า มีลักษณะเป็นอย่างไรมีข้อดี ข้อเสีย และเกี่ยวข้องกับตำแหน่งในเกมฟุตบอลอย่างไรบ้าง
ถ้าเพื่อนๆ พร้อมแล้ว ได้เวลาเลือกนักเตะลงสนาม !
![[จัดพอร์ตการเงิน ให้เหมือนจัดทีมฟุตบอล] ผู้รักษาประตู](https://moneyclass.co/wp-content/uploads/2021/04/similar-strategies-between-financial-planning-and-football-2-800x800.jpg)
ผู้รักษาประตู
ผู้เล่นนายด่านสุดท้ายที่อยู่หน้าประตู มีหน้าที่หลักเพียงหน้าที่เดียวคือต้องใช้ทุกส่วนของร่างกายป้องกันไม่ให้ลูกบอลเข้าประตู โดยกติกาของเกมฟุตบอลกำหนดไว้ว่าโค้ชสามารถไม่เลือกผู้เล่นตำแหน่งอื่นๆลงสนามได้ แต่จะไม่สามารถขาดผู้เล่นตำแหน่งผู้รักษาประตูนี้ได้
ถ้าเปรียบเทียบกับเกมการเงิน ก็คงเป็นสินทรัพย์การเงินที่เกิดมาเพื่อบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรกของทุกแผนการเงิน และสินทรัพย์นี้จะต้องไม่มีความเสี่ยงในการลงทุนหรือสามารถการันตีผลตอบแทนได้ ดังนั้น”ประกันชีวิต”คือคำตอบเดียวในตำแหน่งผู้รักษาประตูนี้
ใครหลายคนอาจรู้จักประกันชีวิตแค่ในมุมของการบริหารความเสี่ยง แต่อีกมุมหนึ่ง มีประกันชีวิตบางประเภทเช่นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เบี้ยที่เราจ่ายไปจะมีส่วนของการออมเงินด้วย โดยบริษัทประกันจะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนเพื่อทำผลตอบแทนให้งอกเงย และนำมาจ่ายเงินคืนให้เราเป็นรายงวด(แล้วแต่สัญญา) เมื่อครบกำหนดสัญญาจะคืนเป็นเงินก้อนใหญ่ ความเสี่ยงจากการลงทุนจะตกอยู่ที่บริษัทประกันเอง ดังนั้นเราผู้ที่เป็นผู้เอาประกันจะสามารถการันตีได้เลยว่าจะได้รับเงินคืนอย่างแน่นอน ข้อดีอีกข้อของประกันชีวิต คือเรายังสามารถนำค่าเบี้ยตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาทไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย เรียกได้ว่าไม่มีสินทรัพย์การเงินนี้ไม่ได้แล้ว
![[จัดพอร์ตการเงิน ให้เหมือนจัดทีมฟุตบอล] กองหลัง](https://moneyclass.co/wp-content/uploads/2021/04/similar-strategies-between-financial-planning-and-football-3-800x800.jpg)
กองหลัง
ผู้เล่นที่อยู่แนวหลัง มีหน้าที่หยุดผู้เล่นอีกฝ่ายจากการโจมตีก่อนไปถึงผู้รักษาประตู โดยจะแตกต่างจากผู้รักษาประตูตรงที่ผู้รักษาประตูมีหน้าที่เดียวคือเล่นเกมรับ แต่กองหลังสามารถเติมขึ้นไปเล่นเกมรุกและทำประตูได้ในบางจังหวะ
ถ้าเปรียบเทียบกับเกมการเงิน กองหลังเปรียบเหมือนสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนไม่หวือหวามากนัก เน้นไปที่การรักษาเงินต้นไม่ให้สูญหายจากเงินเฟ้อ มากกว่าการสร้างผลตอบแทนสูงๆ เราจะเรียกสินทรัพย์ที่มีลักษณะแบบนี้ว่า “สินทรัพย์ประเภทเจ้าหนี้”
ลักษณะคือผู้ถือตราสารมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกตราสารมีสถานะเป็นลูกหนี้โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และ จะได้รับ “เงินต้น” คืนเมื่อครบกำหนดอายุแบ่งตามระยะเวลาการลงทุนได้ 2 ประเภท ได้แก่
- ตราสารหนี้ระยะสั้น เช่น ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน B/E
- ตราสารหนี้ระยะยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้
ผลตอบแทนจะได้พอๆกับเงินเฟ้อ หรือชนะเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย มีความเสี่ยงต่ำจึงเหมาะกับใครที่ยังไม่มีความรู้ด้านการลงทุนมากนัก แต่ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทอะไรก็ตามเราก็ต้องศึกษาลักษณะผลตอบแทนความเสี่ยงเสมอเพราะ “การลงทุนที่เสี่ยงที่สุดไม่ได้หมายถึงลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูง..แต่เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่เราไม่มีความรู้ต่างหาก”
![[จัดพอร์ตการเงิน ให้เหมือนจัดทีมฟุตบอล] กองกลาง](https://moneyclass.co/wp-content/uploads/2021/04/similar-strategies-between-financial-planning-and-football-4-800x800.jpg)
กองกลาง
เป็นตำแหน่งที่อยู่กลางสนามระหว่างกองหน้า กับ กองหลัง มีหน้าที่ครองบอลควบคุมจังหวะเกม ส่งบอลสู่กองหน้า และช่วยกองหลังเล่นเกมรับในบางจังหวะ เรียกได้ว่าเป็นตำแหน่งหัวใจหลักของเกมฟุตบอลเลยทีเดียว
ถ้าเปรียบเทียบกับเกมการเงิน กองกลางเปรียบเหมือน “สินทรัพย์ที่เราเป็นเจ้าของ” เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือพวกหุ้นต่างๆ ที่เป็นสินทรัพย์ “หัวใจหลัก” ของพอร์ตที่จะให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ ซึ่งแน่นอนว่าสินทรัพย์เหล่านี้ก็จะมีความไม่แน่นอนสูงเช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น ในปีที่เศรษฐกิจดีเราอาจทำกำไรจากหุ้นได้ +15% แต่ในปีต่อมาเจอวิกฤตเศรษฐกิจอาจขาดทุนถึง -30% ก็ได้ การจะลดความเสี่ยงของสินทรัพย์พวกนี้สามารถทำได้โดยใช้เครื่องมือง่ายๆ ที่เรียกว่า “เวลา” เพราะเวลาจะทำให้ความผันผวนของผลตอบแทนหุ้นลดลง เราจึงควรเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดีมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต และควรถือหุ้นอย่างต่ำ 5-7 ปี เพื่อลดความเสี่ยงตรงนี้ลงครับ
![[จัดพอร์ตการเงิน ให้เหมือนจัดทีมฟุตบอล] กองหน้า](https://moneyclass.co/wp-content/uploads/2021/04/similar-strategies-between-financial-planning-and-football-5-800x800.jpg)
กองหน้า
เป็นตำแหน่งที่อยู่หน้าประตูของอีกฝ่าย หน้าที่หลักคือการทำประตูหรือสร้างโอกาสให้คนในทีมทำประตู เพื่อชัยชนะของทีม
ถ้าเปรียบเทียบกับเกมการเงิน กองหน้าเปรียบเหมือน “สินทรัพย์ทางเลือก” ซึ่งเป็นการลงทุนที่ เหมาะกับการเพิ่มอัตราผลตอบแทน และลดความเสี่ยงของพอร์ตไปในตัว เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีความเฉพาะตัวสูง ราคาจะขึ้นและลงรุนแรงตามความต้องการของตลาด ทำให้อาจมีข้อจำกัดของการประเมินราคามูลค่าแท้จริงของสินทรัพย์ ที่สามารถทำได้ยาก
ตัวอย่างของสินทรัพย์ทางเลือก
- การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น ทองคำ น้ำมัน สินค้าเกษตร
- การลงทุนในของสะสม เช่น วัตถุโบราณ ภาพเขียน เหรียญ แสตมป์
- การลงทุนที่มีความซับซ้อน เช่น ลงทุนใน Hedge fund หรือ Private Fund ที่มีความยืดหยุ่นสูงในเรื่องของนโยบายการลงทุน
- การลงทุนออนไลน์แบบใหม่ เช่น บิทคอยน์ หรือเหรียญดิจิทัลอื่นๆ
ถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วถ้าราคาของสินทรัพย์ทางเลือกผันผวนแบบนี้ ควรมีสินทรัพย์นี้ในพอร์ตการเงินของเราจริงหรอ ?
ผมขอยกตัวอย่างแบบนี้ครับ ในสถานการณ์เกมฟุตบอลจะมีบางช่วงเวลาที่ฝ่ายตรงข้ามเน้นเกมรับ กองกลางของเราจะหาโอกาสเข้าทำประตูได้ยาก โค้ชจึงต้องมีการปรับแผน เปลี่ยนวิธีการเล่นโดยส่งกองหน้าที่มีรูปร่างสูงใหญ่ มีทักษะการเล่นลูกกลางอากาศได้ดีเข้ามา เพื่อเป็นการสร้างมิติการทำประตูแบบใหม่ๆให้กับทีม
ซึ่งไม่ต่างจากเกมการเงิน ในสถานการณ์ที่คาดว่าหุ้นปรับตัวเป็นช่วงขาลง เราอย่ามัวแต่เครียดจนลืมไปว่าสินทรัพย์การเงินนั้นมีหลากหลาย เราอาจปรับสัดส่วนของพอร์ต มาลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกมากขึ้น เช่น เปลี่ยนมาลงทุน ทองคำ บิตคอยน์เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้สัดส่วนของพอร์ตการลงทุนก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการเงินของเรา บางทีเป้าหมายการเงินไม่สูงมากเราอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนในสินทรัพย์พวกนี้เลยก็ได้ ใช้แค่สินทรัพย์เสี่ยงต่ำก็สามารถบรรลุเป้าหมายการเงินได้แล้ว หรือถ้าเป้าหมายการเงินเราต้องการผลตอบแทนที่สูงเราก็ส่งกองหน้าลงไปในสนามมากหน่อยเพื่อโอกาสการทำประตูมากขึ้น แต่แน่นอนว่าในสนามของเราจะเหลือผู้เล่นเกมรับน้อยลงตามไปด้วย ทำให้มีโอกาสที่จะเสียประตูมากกว่าการได้ประตูเช่นเดียวกัน
“การคาดหวังผลตอบแทนสูง..ต้องแลกมากับความเสี่ยงที่สูงเช่นเดียวกัน”
กล่าวโดยสรุป
เป้าหมายการเงินของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราที่เป็นโค้ชจึงมีหน้าที่จัดพอร์ตการเงินของตัวเอง โดยหัวใจหลัก คือการจัดให้สมดุลเหมือนเกมกีฬาฟุตบอล ที่มีผู้เล่นครบทุกตำแหน่งสำหรับทั้งเล่นเกมรับหรือเกมรุก ที่สำคัญก่อนจะลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ตาม อย่าลืมทำความเข้าใจลักษณะ เงื่อนไขค่าธรรมเนียมซื้อ-ขาย ผลตอบแทน ความเสี่ยงในอดีต ของสินทรัพย์ชนิดนั้น เพื่อที่เราจะจัดพอร์ตการเงินได้เหมาะสมกับเรามากที่สุด และสามารถบรรลุเป้าหมายชนะเกมการเงินในชีวิตจริงได้นั่นเอง