“เป้าหมายการเงินของคุณคืออะไร?”
อยากมีบ้านสักหลัง อยากมีรถสักคัน อยากมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณแบบสบายๆ อยากมีเงินเก็บ5ล้าน ทั้งหมดนี้ คือ เป้าหมายของคนส่วนใหญ่ แต่ทำไมคนที่ตั้งเป้าหมายเหล่านี้ ไม่เคยได้ในสิ่งที่ต้องการเลย หรือเพราะเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ “ไม่ดี”
“ไม่ดี” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง อยากมีบ้านไม่ดี หรือ อยากเกษียณเร็วๆ ไม่ดีนะครับ แต่ฮูกกำลังหมายถึงเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ มันไม่ชัดเจนต่างหาก การที่แผนการเงินของเราจะสำเร็จได้ สิ่งสำคัญที่สุดอันดับแรกเลยคือการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน
วันนี้ฮูกเลยจะมาแนะนำให้เพื่อนๆ รู้จักกับ “หลักการตั้งเป้าหมายแบบ S-M-A-R-T” มาลองสำรวจดูเป้าหมายการเงินของตัวเองกันดีกว่า ว่าเราตั้งเป้าหมายตามหลักนี้แล้วหรือยัง?
S-M-A-R-T Goal คืออะไร?
การตั้งเป้าหมายแบบ S-M-A-R-T (SMART Goals) คือหลักการตั้งเป้า เพื่อให้เป้าหมายมีความชัดเจน วัดผลได้ ทำให้สำเร็จและเป็นไปได้จริง ภายในกรอบเวลา เดิมทีแล้วเป็นหลักการตั้งเป้าทางธุรกิจ แต่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับการเงินเช่นกัน เพื่อให้การตั้งเป้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีโอกาสที่จะสำเร็จสูงขึ้นด้วย
S-M-A-R-T Goals มีทั้งหมด 5 หลักการ ดังต่อไปนี้
1. S = Specific
การตั้งเป้าหมายต้องชัดเจน เฉพาะเจาะจง ไม่คลุมเครือ รู้ว่าต้องการอะไร และจะบรรลุเป้าหมายนั้นตอนไหน ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติให้นาย A และ นาย B เป็นเพื่อนกัน อายุ 30 ปี เท่ากัน
นาย A : เป้าหมาย คือ “มีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณแบบสบายๆ”
นาย B : เป้าหมาย คือ “จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 80 ปี มีเงินไว้ใช้แบบสบายๆ ของนาย B คือเดือนละ 15,000 บาท”
เพื่อนๆ เห็นความแตกต่างระหว่าง 2 คนไหมครับ เริ่มที่นาย A เป้าหมายฟังดูดีมากๆ แต่ก็ยังดูคลุมเครือ ไม่รู้ว่า เงินแบบสบายๆ ที่ว่าคือเท่าไหร่ จะเกษียณตอนไหนก็ยังไม่รู้เลยจริงไหมครับ เรื่องจะเก็บเงินแต่ละเดือนเท่าไหร่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
กลับกันลองมาดูที่นาย B กันบ้าง เป้าหมายชัดเลยว่า สบายๆ ที่ว่าคือ 15,000 บาทต่อเดือน แสดงว่าถ้าจะมีให้พอใช้เลยต้องมีเงินเก็บ 3,600,000 บาทก่อนจะเกษียณ ทีนี้นาย B ก็สามารถรู้ได้ละว่าจากวันนี้ (อายุ 30 ปี) จนถึง 60 ปี เขาต้องมีเงินเก็บเดือนละเท่าไหร่?
2. M = Measurable
เป้าหมายต้องวัดผลเป็นตัวเงินได้อย่างชัดเจน เพราะจะทำให้เห็นระยะทางของความก้าวหน้า และรู้ว่าใกล้ถึงเป้าหมายแล้วรึยัง คำถามที่ต้องถามตัวเองในหัวข้อนี้ก็คือ..ต้องมีเงินก้อนไว้ใช้หลังเกษียณเท่าไหร่?
จากตัวอย่างที่แล้วจะเห็นว่านาย B ต้องการเงินเก็บ 3,600,000 บาท เพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ (เป้าหมาย) ทีนี้ถ้านาย B จะเก็บเงินให้ได้ตามเป้า ต้องเก็บเดือนละเท่าไหร่? ไม่ยากเลยครับเพราะเป้าหมายของนาย B สามารถวัดผลได้! โดยปัจจุบัน นาย B อายุ 30 ปี แสดงว่าเหลือเวลาเก็บเงินอีก 30 ปี ก่อนจะเกษียณตอนอายุ 60 ปีตามที่ตั้งเป้าไว้ จากการคำนวณจะได้ว่า นาย B ต้องเก็บเงินให้ได้เดือนละ 10,000 บาท ถึงจะพอกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
ซึ่งการที่วัดผลได้แบบนี้ นอกจากจะช่วยบอกความก้าวหน้าแล้ว ยังช่วยให้สามารถประเมิณความสามารถในการเก็บเงินแต่ละเดือนของเราได้ด้วยว่าไหวไหม? หรือช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น ในเรื่องการลดค่าใช้จ่าย เรื่องลงทุนเพิ่ม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายได้
3. A = Achievable
เป้าหมายที่ตั้งต้องสามารถทำสำเร็จได้ ไม่เกินกำลังตัวเองจนเกินไป รู้ว่าต้องทำอะไร และมีความรับผิดชอบในการทำเป้าหมายให้สำเร็จ คำถามที่ต้องถามตัวเองก็คือ.. ปัจจุบันต้องออมเดือนละเท่าไหร่? ต้องการได้ผลตอบแทนเท่าไหร่? ต้องไปลงทุนในสินทรัพย์ไหนเพิ่มไหม?
4. R = Realistic
เป้าหมายต้องมีความเป็นไปได้ สมเหตุสมผล ไม่เกินจริง คำถามที่ต้องถามตัวเองก็คือ.. ปัจจุบันเงินเดือนเท่าไหร่ เพียงพอที่จะออมไหม? เรามีความรู้ในการลงทุนมากแค่ไหน? ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้เราเป็นพนักงานเงินเดือนได้เดือนละ 25,000 บาท และวางแผนว่าจะทำอาชีพนี้ไปจนเกษียณ และไม่ลงทุนหรือทำอะไรเลย แต่วางเป้าหมายไว้ว่าจะมีเก็บ 1 ร้อยล้าน! ก็คงเป็นเป้าที่เกินความเป็นจริงไปและไม่มีทางเป็นไปได้จริงไหมครับ
แต่ฮูกไม่ได้บอกนะครับว่า เป้าหมาย 1 ร้อยล้านเป็นไปไม่ได้ แต่แค่บอกว่าการหาเงินช่องทางเดียวและยิ่งเป็นแค่เงินเดือนด้วยแล้ว บอกเลยว่ายากครับกับเป้าหมายแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วคนเราสามารถหาเงินได้มากกว่า 1 ช่องทางครับ เพื่อนๆ สามารถอ่าน “เงิน 4 ด้าน เคล็ดลับของคนรวยที่เราไม่รู้มาก่อน” เพิ่มเติมได้ครับ
5. T = Time-Bound
สุดท้ายต้องมีระยะเวลาที่แน่ชัด รู้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ในการทำเป้าหมายให้สำเร็จ คำถามที่ต้องถามตัวเองในหัวข้อนี้ก็คือ.. เราเหลือเวลาอีกแค่ไหนในการลงทุน?
จากตัวอย่างของนาย B ที่กล่าวไปแล้ว ก็คือ 30 ปี เป็นเวลาที่นาย B เหลืออยู่สำหรับเอาเงินไปเก็บ หรือ ลงทุน ก่อนที่จะเกษียณ ถามว่าการที่รู้ Time-Bound ช่วยอะไร? แน่นอนว่าช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าจะเอาเงินที่หามาได้ไปลงทุนกับสินทรัพย์ตัวไหน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในเวลาที่จำกัดยังไงละครับ
เพราะเวลา 30 ปี การเอาเงินไปฝากในธนาคารเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าทำให้บรรลุเป้าหมาย 3,600,000 ได้ แต่อาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย 100 ล้านได้นะครับ ถ้าเราไม่ขยับไปลงทุนในกองทุน หรือลงทุนในหุ้น ( เพื่อนๆ สามารถทำความเข้าใจเรื่องกองทุนรวมเพิ่มเติมได้ ซึ่งฮูกเคยเขียนไว้ เรื่อง “กองทุนรวม ตัวช่วยการลงทุนพนักงาน” )
สรุปตัวอย่างการตั้งเป้าหมายแบบ S-M-A-R-T ที่ถูกต้อง
เรามุ่งมั่นพัฒนาบริการ เพื่อยกระดับสุขภาพการเงิน ทั้งในระดับโรงเรียน และองค์กร ผ่านโปรแกรมหลักสูตรที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับบริบทของคนไทยโดยเฉพาะ